NIDA Transformation ความท้าทายของ ‘นิด้า’ สู่จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษที่ 21

  • NIDA Transformation ความท้าทายของ ‘นิด้า’ สู่จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษที่ 21 NIDA Transformation ความท้าทายของ ‘นิด้า’ สู่จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษที่ 21
    ท่านทั้งหลายที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ เป็นผู้ที่เชื่อได้ว่า มีความรู้ความสามารถสูง จึงเป็นที่หวังของคนไทยทั้งชาติ รวมทั้งของข้าพเจ้าด้วย ที่จะได้อาศัยความรู้ ความคิด สติปัญญา และความสามารถ ในอันที่จะนำพาประเทศชาติให้ก้าวไปสู่ความมั่นคง และสมบูรณ์พูนสุข ขอให้ท่านรับหน้าที่อันมีเกียรตินี้ด้วยความมั่นใจ ตั้งใจและบริสุทธิ์ใจ แล้วร่วมกันปฏิบัติหน้าที่น้อยใหญ่ให้ลุล่วงไป ด้วยความขยันหมั่นเพียรและด้วยความสุจริต เที่ยงตรง ทั้งต่อตนเองและต่อประชาชน…
     
    พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ “นิด้า” เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2513 ที่นิด้าได้น้อมนำมาใช้เป็นปณิธานของสถาบัน ผลิตผู้เชี่ยวชาญสถิติและผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้ปรัชญาของสถาบันที่ว่า “สร้างปัญญา เพื่อการเปลี่ยนแปลง (WISDOM for Change)” 
     
    ปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 55 แล้ว ที่ “นิด้า” ซึ่งเป็น สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ และก่อตั้งตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เดินตามแนวพระราชดำริและน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระองค์ พร้อมกับสานต่อปณิธานด้วยการเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ ผ่าน 3 คีย์สำคัญคือ 1.ความเป็นเลิศ (Excellence) 2.การสร้างความมีส่วนร่วม (Inclusion) และ 3.การสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาที่มีภาวะผู้นำ พัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และให้บริการวิชาการด้านการบริหารการพัฒนา เพื่อให้บุคลากรของประเทศมีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน 
     
    นักศึกษาต่างเชื่อมั่นในคุณภาพการศึกษาที่ได้รับ ไม่ลังเลที่ศึกษาเพิ่มในต่างคณะหรือต่อในระดับสูงขึ้นที่ “นิด้า”
     
    นางสาวทัศน์วรรณ สุทธิปิยะโรจน์
    วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล คณะสถิติประยุกต์  
     
    @เข้าใจ เข้าถึง “เดต้า” ช่วยยกระดับ-แก้ไขปัญหาสังคม ในยุคโควิด-19
     
    เราทำเกี่ยวกับเดต้า ดูกิจกรรมเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล และงานโอเปอร์เรชั่น ทุกวันนี้มีข้อมูลเยอะมากที่เห็นในบริษัท จึงอยากเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
     
    สาขานี้เป็นศาสตร์ที่เปิดใหม่ในเรื่องของ Business Analytics And Data Science ซึ่งเป็นศาสตร์ยุคหลัง เราเป็นคนเจน X ซึ่งสกิลที่มีอาจไม่ค่อยตอบโจทย์โลกหรือไม่ทันโลก ต้องมา Upskill Reskill หรือ Unskill บางอย่าง ซึ่งนิด้าก็เป็นสถาบันแรกๆ ที่มีการออกแบบหลักสูตรในลักษณะนี้อย่างชัดเจน มีโครงสร้างหลากหลายวิชาที่ตอบโจทย์ในเรื่องของการทำงานยุคใหม่ 
     
    ถ้ามองในเชิงสังคม กลไกของการบริหารจัดการ หรือการแก้ไขปัญหาต่างๆ หรือแม้กระทั่งในสถานการณ์โควิด-19 และสาธารณสุข พึ่งพาเดต้าค่อนข้างมาก ทุกวันนี้เดต้าเข้าถึงได้ง่ายมาก ผ่านโทรศัพท์ แอปฯ สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์พฤติกรรม เพื่อยกระดับหรือแก้ไขปัญหาในเชิงของระบบสาธารณสุข หรือเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น คนที่มาเรียนจะสามารถมองเห็นภาพว่าทุกๆ อย่างที่ทำ ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมข้อมูล ไม่ว่าในเชิงของนโยบายของรัฐบาล หรือเชิงการทำงานของภาคเอกชน จะมองเห็นโอกาสในการขยาย หรือมองเห็นภาพในการวิเคราะห์ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การใช้ประโยชน์ในการหาโอกาสใหม่ๆ ก็จะทำได้ง่ายขึ้น
     
    น.ต.วิเชียร พึ่งตน
    การจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว คณะการจัดการการท่องเที่ยว 
     
    @การรู้เรื่องการตลาดช่วยเราได้เยอะ ทำให้สามารถดึงลูกค้ากลับมาได้
     
    ผมเรียนนิด้าเพื่อสนองปณิธานของในหลวง ร.9 ตอนเกษียณอยากเป็นอาจารย์เพื่อถ่ายทอดความรู้ที่มีกับสถานศึกษาใกล้บ้านที่ภูเก็ต ก็จะมีโรงเรียนอาชีวะ เทคนิค เป็นลักษณะวิทยากรพิเศษและให้ทุนเด็กด้วย ซึ่งต้องจบ ป.โท ถึงจะสอนได้ 
     
    ขณะเดียวกันก็เป็นการทบทวนความรู้ด้วย เนื่องจากจบโรงเรียนนายเรืออากาศมา ก็เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ความรู้มีการเปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันมีอาชีพเป็นนักบิน ทำงานในที่แคบๆ ก็จะรู้แต่โลกของเรา มาเรียนก็ทำให้มองโลกได้กว้างขึ้น เหมือนคนยืนบนภูเขามองเห็นข้างล่างกว้างขึ้น เข้าใจบริบทต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ในปัจจุบัน 
     
    ได้ไปแนะนำเรื่องการตลาดกับเพื่อนในวงการนักบิน สายการบินต่างๆ ก็สามารถดึงลูกค้ามาได้โดยเอาหลักการตลาดที่เราเรียนไปคุย ว่าเรามีราคา โปรโมชั่น ดูสเก็ตการบินให้สัมพันธ์กัน ก็ช่วยได้เยอะ 
     
    การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ก็ตรงกับหลักปัจจุบัน อย่างธุรกิจการบิน พอบินไม่ได้ก็ต้องมาดูพื้นฐานของตัวเองว่าบริษัทมีอะไรบ้าง ก็ต้องใช้ทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุด อย่างธุรกิจโรงแรม ก็พยายามดูต้นทุนที่แท้จริงคืออะไร ดูภาวะเศรษฐกิจ ปรับราคาห้องให้เหมาะสมโดยที่ไม่มองกำไร ก็ประคองตัวได้
     
    นายสมพงษ์ เหมบุตร
    วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 
     
    @ทุกการเปลี่ยนถ่ายคือ “โอกาส” จะควบรวมกิจการก็ทำให้ยั่งยืนได้
     
    ทำงานสายโอเปอร์เรชั่น ส่วนหนึ่งของการทำงานโอเปอร์เรชั่น จะเกี่ยวข้องกับคน ต้องเข้าใจบริบทของคน ผมอยู่กับเครื่องจักรเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเวลามีการเปลี่ยนแปลง จะมองการเปลี่ยนแปลงทางด้านกระบวนการเป็นหลัก แต่ “คน” ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม จึงเป็นที่มาว่าตัวเราเองต้องศึกษาต่อ 
     
    ทันทีที่เข้าเรียนนิด้า ทำให้มองเห็นมิติในแง่ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และมองจริยธรรมได้หลายมิติ ไม่ใช่มองที่ธุรกิจจนมองข้ามผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นั่นคือ พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า 
     
    มีอยู่วิชาหนึ่งที่ผมชอบมาก เป็นวิชาที่พูดถึงการควบรวมกิจการ เหมาะกับช่วงโควิด-19 พอดี ที่จะต้องมีการควบรวมกิจการ ซึ่งการมาเรียนที่นี่ทำให้ผมสามารถให้คำปรึกษากับบริษัทเอกชนและมหาชนบางแห่ง ที่ทำให้เขามั่นใจว่า การควบรวมกิจการ เงินที่ใส่ลงไปเพื่อต่อยอดธุรกิจ มันสามารถที่จะยั่งยืนได้ ทำให้เห็นว่าทุกการเปลี่ยนถ่ายมันคือโอกาสของเรา 
     
    ผศ.ดร.พรชัย ฉันต์วิเศษลักษณ์
    ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์และนวัตกรรม คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ 
     
    @ปรับเพื่อเพิ่มมูลค่า เอาคอนเทนต์ที่ตัวเองมีไปสู่คอนเทนต์ใหม่ 
     
    เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ทำสื่อได้ เป็นสื่อได้ ผมมองว่าคำว่าเป็นได้ ก็เป็นเรื่องจริง แต่เป็นได้แบบมีคุณภาพ เป็นได้แบบมีจริยธรรม เป็นได้แบบรู้เท่าทันจริงๆ หรือแบบที่เข้าใจกระบวนการ ก็ใช่ว่าทุกคนจะเป็นได้ ต้องผ่านการเรียนรู้ ผ่านการเข้าใจ คนที่จะมาใช้ จัดการ ดูแล หรือแม้กระทั่งคนที่เข้ามาดู ควรจะต้องก้าวตามทันสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ 
     
    ผมเรียนวิทยุโทรทัศน์ เข้ามาทำงานในวิชาชีพจริงๆ ในแง่ของการทำงานจริง ก็มีทั้งปรับ ทั้งเปลี่ยน หลักสูตรที่นี่เป็นหลักสูตรที่มองว่าบริบทสังคมตอนนี้เป็นอย่างไร แล้วมีการปรับเปลี่ยนตาม ทำให้เข้าใจกว้างขึ้น เข้าใจรอบด้านมากขึ้นและลึกขึ้น สามารถต่อยอดจากพื้นเดิมออกไปอีกได้ 
     
    เช่น สามารถศึกษากระบวนการทำสื่อของคนทำสื่อที่ทำทีวีด้วยและข้ามไปยังสื่อใหม่ด้วยเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ชมมากขึ้น และเอาคอนเทนต์ที่ตัวเองมีไปสู่คอนเทนต์ใหม่ เอาคอนเทนต์ที่มีมาปรับเพื่อเพิ่มมูลค่า ทำให้เห็นว่าจริงๆ คนที่ทำสื่อ สามารถหลอมรวมกันได้หมดและใช้กระบวนการเรียนรู้ในการจัดการคอนเทนต์ที่ตัวเองมีเพื่อให้มันคุ้มค่ามากที่สุด
     
    พันเอก ปณิธาน เปมะโยธิน
    รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาการจัดการสำหรับนักบริหาร คณะรัฐประศาสนศาสตร์
     
    @เรียนให้รู้มุมใหม่ๆ เพื่อรับใช้ประชาชนทุกมิติ
     
    เราเลือกเรียนคณะนี้ เพื่อที่จะได้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เรียนเพื่อเตรียมเป็นผู้บริหาร หลักๆ ควรต้องทำอย่างไร จะจัดการคนอย่างไร ไม่ใช่ทำตามคำสั่งโดยที่ไม่รู้ว่าทำไปทำไม เราต้องรู้จะได้ดำเนินไปตามนโยบายที่สอดคล้องและตรงประเด็นของเป้าหมาย 
     
    เราทำงานมา 30 ปีแล้ว อยู่ในระบบข้าราชการทหาร ประเทศมีการเปลี่ยนรูปแบบไปเยอะ โดยเฉพาะช่วงนี้ ทั้งระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบสังคม หน้าที่ของข้าราชการคือรับใช้ประชาชนในทุกมิติ อยู่ที่ว่าเราทำอยู่ในมิติไหน มาเรียนก็ทำให้รู้ในมุมใหม่ๆ 
     
    อย่างเรื่อง CSR ในอดีตเคยเข้าใจว่าทำเฉพาะข้างนอก แต่จริงๆ ทำได้กับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ การบริการ บริการอย่างไรให้มีความรับผิดชอบต่อผลงาน ซึ่งของผมก็มีเรื่องของสารพิษที่ออกจากโรงพยาบาลที่ต้องระวัง เรื่องของธรรมาภิบาล ข้าราชการทั้งหมดต้องรู้ เป็นต้น
     
    นายบุรินทร์ กำจัดภัย
    เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
     
    @การที่ได้สัมผัสกับปรากฏการณ์จริงทางเศรษฐศาสตร์ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
     
    ผมเป็นนักวิชาการสาขาอื่น มาเรียนดูว่านักเศรษฐศาสตร์คิดยังไง ก็มีทั้งเศรษฐศาสตร์และการเงิน ซึ่งเป็น ป.โท ที่ดีมาก ทำให้เปิดโลก เพราะไม่เคยแตะมาทางสังคมศาสตร์เลย ก็ได้วิธีคิดของนักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินไปด้วย 
     
    ที่ได้กำไร คือรู้ว่าพื้นฐานด้านการเงินคืออะไร รู้เส้นทางของนักวิชาการการเงิน เห็นสังคมอีกแบบหนึ่ง เป็นโรงเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับคนที่มาจากหลากหลายที่ 
     
    ในฐานะที่เป็นคนสอนหนังสือเหมือนกัน เห็นเลยว่าอาจารย์ตกผลึกจริงๆ วันแรก สไลด์แรก ก็สามารถปิดคลาสได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนสายมาจากสายอื่น หรือสายเศรษฐศาสตร์เอง ที่นี่ก็ชัดเจนมีเครือข่าย สิ่งที่คณะจะให้กับคนที่มาเรียน หลักๆ คือ 1.ตัวพื้นฐานทางทฤษฎี ที่ได้สัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่าปรากฏการณ์จริงทางเศรษฐกิจ การเอาทฤษฎีไปอธิบายปรากฏการณ์จริง บางวิชาสอนเรื่องกฎหมาย วิธีปฏิบัติในวิชาชีพทางการเงิน บริหารธุรกิจทางเศรษฐกิจ 
     
    ฉะนั้น มุมที่เริ่มจากเศรษฐศาสตร์ก่อน แล้วนำไปสู่การบริหาร  ไม่ว่าจะเป็น การตลาด ธุรกิจ การจัดการการเงิน มันได้เปรียบ เพราะมันเริ่มจากปัญหาที่รู้จริง และปัญหาที่รู้จริงมันงอกมาจากเศรษฐศาสตร์ ถ้าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ปรับตัวเข้าสู่ยุคนี้ ผมว่าเริ่มที่เศรษฐศาสตร์ดีที่สุด
     
    นายเฉลิมศิลป์ ปิ่นเพ็ชร์
    ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการพัฒนาสังคม คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
     
    @ถึงจะมีโควิด-19 แต่เรานำความรู้ที่ได้แลกเปลี่ยน มาปรับใช้ให้ธุรกิจของเรายังยืนหยัดได้
     
    การที่ได้เรียนคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมทำให้เรามองภาพของธุรกิจเปลี่ยนไป มองเรื่องการบริหารคนมากขึ้น มองถึงการเปลี่ยนแปลงของคนมากขึ้น รวมถึงการขับเคลื่อนธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยตัวสินค้า หรือโปรโมชั่นการขายเสมอไป 
     
    กลายเป็นว่าถ้าเราสามารถ Cover คนเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน มันเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน อย่างช่วงที่มีปัญหาจากโควิด-19 จะเห็นว่าธุรกิจร้านค้าปลีก หลายธุรกิจประสบปัญหาเช่นเดียวกันหมดเรื่องของยอดขาย แต่บริษัทเราสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขายของตัวเราเอง 
     
    เพราะเราเอาความรู้ การแลกเปลี่ยนกันระหว่างตัวเรา อาจารย์ หรือเพื่อนๆ มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ ซึ่งใช้ได้จริงและสามารถทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้
     
    นายสิบทิศ ใยนิรัตน์
    บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ
     
    @หากจะพลิกบทบาทสายงาน สิ่งที่ควรมี คือ “องค์ความรู้”
     
    ก่อนหน้านี้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ผมทำงานที่สิงคโปร์ แต่พอมีตำแหน่ง Business Development ที่เมืองไทยเพราะต้องการที่จะขยายตลาด เนื่องจาก ตลาด Healthcare กำลังเติบโต บริษัทฯ จึงอยากให้มาทำตรงนี้ 
     
    มันพลิกอีกด้านหนึ่งเลย จากด้าน Technical เป็น Management จึงคิดว่าควรที่จะมีองค์ความรู้ด้านนี้อย่างจริงจังเพื่อการบริหารงานและพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้น หลักสูตร YMBA (Young Executive MBA) ที่นิด้าสามารถตอบโจทย์ผมได้ เพราะเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับ Management ในแบบของคนรุ่นใหม่ 
     
    พอได้เข้ามาเรียนที่นี่แล้วบอกได้เลยว่าสุดยอด อาจารย์พิเศษแต่ละท่านที่เชิญมาให้ความรู้เป็นระดับ Expert ของแต่ละด้าน มันเกินเป้าหมายที่เราคิดไว้มาก อีกอย่างที่ประทับใจคือเวลามีปัญหาอะไรก็ตาม เราสามารถปรึกษาอาจารย์ได้ทุกอย่าง 
     
    หลักสูตรการเรียนการสอนก็ครอบคลุมทุกแขนงของ Management เหมือนผมไปออกรบแล้วได้อาวุธเต็มมือ ซึ่งความโดดเด่นของสาขานี้คืออาจารย์ผู้สอน ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญนอกเหนือไปจากทฤษฎีที่เราเรียนในห้องคือ Knowledge Sharing เพราะอาจารย์บางท่านนอกจากเป็นอาจารย์ผู้สอนที่นิด้าแล้วยังเป็นที่ปรึกษาให้กับบางบริษัทอีกด้วย 
     
    ถ้าใครสนใจเรียนบริหาร คิดว่านิด้าค่อนข้างตอบโจทย์มากๆ ก็อยากให้มาลองดู มีหลักสูตรที่ครอบคลุม ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ถ้าไม่มั่นใจมาเรียนคลาสระยะสั้นก่อนได้
     
    นางสาวสุริยา แสงปรั่ง
    ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการพัฒนาอาชีพ คณะภาษาและการสื่อสาร
     
    @“เก่งภาษา” Work From Home รับงานที่ไหนก็ได้
     
    เราทำงานวงการทีวีมาทั้งหมด 11ปี ถึงจุดหนึ่งก็อยากเปลี่ยนสายงาน ออกมารับฟรีแลนซ์ ช่วงนั้นก็ไปเรียนภาษาอังกฤษเสริม เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ และมีโอกาสที่จะทำให้เราได้พัฒนา รวมถึงเปิดกว้างในการสมัครงานที่อื่นๆ อีกมากมาย 
     
    จากนั้นก็มองหาที่เรียน ป.โท โจทย์แรกอยากเรียนโทที่เป็นคณะภาษาและจะต้องเดินทางไม่ไกลจากบ้านมากนัก เพราะเรามีงานฟรีแลนซ์ที่ต้องทำอยู่บ้าน ซึ่งเห็นญาติจบนิด้าไป 2 คน และค่อนข้างประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ก็เลยทำให้เราอยากมาเรียนที่นิด้า เราก็หาข้อมูล สอบชิงทุน และก็ได้ทุนส่งเสริมการศึกษาประเภทที่ 2*
     
    รู้สึกสนุก ภูมิใจกับการที่เราเรียนและเอาไปใช้ได้จริง พอมาเรียน เราก็สามารถเป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษได้ มันเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ไม่คิดว่าจะได้ทำ ซึ่งคิดว่าในอนาคตจะสามารถเอาไปผนวกกับนิเทศศาสตร์ที่เรียนมา เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ใช้ภาษาอังกฤษ และใช้ได้ทั่วโลก ยิ่งยุคโควิด-19 Work From Home ได้ ก็รับงานที่ไหนก็ได้ เป็นฟรีแลนซ์ก็ยิ่งได้หลายที่ไม่ใช่เฉพาะในไทย
     
    นายภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ
    ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม
     
    @ภารกิจจัดการสิ่งแวดล้อมของกทม. ต้องคุมเข้ม-แก้ไขตั้งแต่ต้นทาง
     
    ผมเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผน ดูแลเรื่องการจัดทำแผนเรื่องสิ่งแวดล้อมของกทม. ทั้งขยะ อากาศ พื้นที่สีเขียว พลังงาน ปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นภารกิจหลักๆ ซึ่งก็จะดูต้นทางการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งระบบเลย ซึ่งการทำงานเราต้องการเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ เพื่อจะให้บรรลุวัตถุประสงค์เป้าหมาย โดยเฉพาะเรื่องขยะ
     
    มาเรียนปีแรกก็นำความรู้ไปปรับใช้ในงานได้จริง เพราะเราเอางานมาดูว่ามีปัญหาอะไรร่วมกับอาจารย์ ซึ่งช่วยได้อย่างมาก ทำให้เรามีมุมมองครอบคลุมทุกด้าน ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด ทำให้เรามีความรอบคอบที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุนงานของเรา ให้เดินหน้าไปอย่างถูกต้องและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 
     
    นายเยี่ยม อรุโณทัยวิวัฒน์
    นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์
     
    @หวังต่อยอดวิทยานิพนธ์ เอื้อประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมในคดีพิพาท โดยเฉพาะสัญญาสัมปทาน
     
    แม้ว่าคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จะเพิ่งก่อตั้งได้ 11 ปี อาจเรียกได้ว่าเป็นคณะน้องใหม่ของวงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าน้องใหม่คนนี้มาแรงจนขึ้นมาอยู่ในมาตรฐานระดับเดียวกับบรรดาพี่ใหญ่ของคณะนิติศาสตร์ในประเทศไทยเลยก็ว่าได้
     
    “ผมมาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และได้พบว่า คณะนิติศาสตร์ นิด้า  มีบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายอยู่หลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางกฎหมายมหาชนที่ผมให้ความสนใจ และเมื่อศึกษาลึกลงไปถึงงานวิชาการ รวมทั้งความสนใจเฉพาะด้านของอาจารย์แต่ละท่าน ก็รู้สึกว่าตรงตามแนวทางและเป้าหมายของการศึกษาที่ตั้งใจไว้”
     
    ในอดีตเราอาจมองภาพของกฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมหรือบังคับห้ามการกระทำของบุคคลเท่านั้น แต่วัตถุประสงค์ของการตรากฎหมายในปัจจุบันมิได้เป็นดังเช่นในอดีตอีกแล้ว หากแต่มีเจตนารมณ์ที่จะช่วยกำหนดกรอบหรือทิศทางของสังคมให้มุ่งไปสู่ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของสังคมที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การศึกษาวิชานิติศาสตร์จึงต้องควบคู่ไปกับศาสตร์แห่งการพัฒนา หรือที่เรียกว่า “Law and Development” ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นแนวทางการสอนและเป็นจุดแข็งของสถาบันแห่งนี้ 
     
    อย่างในกรณีการศึกษาของผม ผมเลือกทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ “การระงับข้อพิพาทในสัญญาทางปกครองโดยอนุญาโตตุลาการ” ซึ่งผลจากการวิจัยนี้จะสามารถนำไปพัฒนาระบบการระงับข้อพิพาททางเลือกในสัญญาทางปกครอง รวมถึงขอบเขตอำนาจของศาลปกครองในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการในกรณีดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมในคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง โดยเฉพาะสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมทุน หรือสัญญาที่รัฐมอบให้เอกชนเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะประเภทต่างๆ
     
    คณะนิติศาสตร์ นิด้า จัดว่าเป็นสำนักวิชาที่พรั่งพร้อมด้วยบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายสาขาต่างๆ ที่พร้อมจะให้คำแนะนำปรึกษา รวมถึงผลงานทางวิชาการและงานวิจัยที่มีคุณภาพเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือ มีหลักสูตรให้เลือกเรียนได้หลากหลายตามความต้องการ มีความพร้อมในทุกด้านที่จะสนับสนุนผู้สนใจศึกษาต่อยอดความรู้ในทางนิติศาสตร์
     
    นางสาวปิยะดา ชีวพัฒนานุกูล
    Master of Management  วิทยาลัยนานาชาติ
     
    @ได้แนวคิด-เครือข่ายเพิ่มขึ้น ช่วยให้เห็นมุมมองที่แตกต่าง ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
     
    หลังจากศึกษาเพื่อเปรียบเทียบหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่างๆ พบว่าหลักสูตรของ “ICO NIDA” น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ที่มาสอนเป็นอาจารย์จากหลายประเทศ สิ่งนี้สามารถช่วยให้เรามีมุมมองและความรู้ที่แตกต่างกันออกไป และมีจุดมุ่งหมายในการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมมากขึ้น สามารถที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรให้ก้าวหน้าขึ้น
     
    อาจารย์ที่มาสอนเป็นอาจารย์จากหลายประเทศ สิ่งนี้สามารถช่วยให้เรามีมุมมองและความรู้ที่แตกต่างกันออกไป และมีจุดมุ่งหมายในการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมมากขึ้น สามารถที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรให้ก้าวหน้าขึ้น
     
    แม้ว่าหลักสูตรจะทำการสอนก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ก็สามารถใช้กับสถานการณ์นี้ได้ อย่างวิชาเอกการจัดการการตลาดก็พบว่า แนวคิดหลักของการตลาดสามารถนำไปปรับใช้กับงานของตัวเองได้เป็นอย่างดี รวมถึงการได้มีเพื่อนร่วมชั้นที่ทำงานในสาขาต่างๆ ได้แบ่งปันความรู้กัน ก็เป็นปัจจัยในการสร้างแรงจูงใจและสร้างความกระตือรือร้นของเราที่จะเรียนรู้มากขึ้น แถมยังทำให้ได้เครือข่ายเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน
     
    นอกจากนี้ หลักสูตรปริญญาโท “Double Master’s Degree” ยังทำให้ได้มีโอกาสเข้าร่วมเรียนปริญญาโทด้านการจัดการระหว่างประเทศ (International Management) ที่ Hochschule Rheinmain, University of Applied Sciences (Wiesbaden Business School, Hessen, Germany) ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างมากมายในประเทศเยอรมนี อีกด้วย
     
    เหล่านี้ตอกย้ำภารกิจของสถาบันในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ ตลอดจนมุ่งพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยนำความรู้และคุณธรรมมาสร้างปัญญาสร้างจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
     
    อ้างอิงเนื้อหา และรูปภาพจาก
    https://www.matichon.co.th/advertorial/news_2811653
    • Admin
    • อังคารที่ 6 กรกฎาคม 2564
    • 1 Views